ในการประชุมสภา อบต.ก เปิดประชุมสามัญประจำปี ในระหว่างเปิดอภิปรายอยู่ สมาชิกท่านหนึ่งได้ กล่าวขึ้นมาว่า” ผมได้พิจารณาข้อมูลที่ฝ่ายบริหารส่งมาให้ ในส่วนต่างๆ ไม่น่าสงสัยแต่ในส่วนสำนักปลัดฯ มีการทำหมกเม็ดโดยเฉพาะในส่วนการจัดซื้อเสื้อกันหนาว ปลัดกับคลังได้ดำเนินทุจริตในการซื้อจ้าง ดำเนินการต่างๆ เพื่อผลประโยชน์ กระทำการโกงชาติบ้านเมือง ” พร้อมประกาศต่อเลขาฯสภาให้บันทึกไม่ได้เกรงกลัวอะไร
ถามว่า : การกล่าวหาบุคคลอื่นในสภาท้องถิ่น อย่างเลื่อนลอย ไม่มีข้อเท็จจริง หรืออยากด่าใครก็ได้ สามารถดำเนินการฟ้องหมิ่นประมาทได้ ได้หรือไม่ และถ้าตรวจสอบในระเบียบการประชุม ไม่ได้ระบุไว้เหมือนการประชุมสภาฯใหญ่ในเรื่องคำพูดใดๆในการประชุมสภาฯไม่สามารถนำมาดำเนินการทางกฎหมายได้
ตอบ : ถ้าข้อความที่พูดในที่ประชุมเป็นความจริง ไม่สามารถฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้พูดได้ เพราะเข้าข่ายยกเว้น ตาม ป.อ. มาตรา 329 เนื่องจากผู้พูดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต แต่ถ้าไม่เป็นความจริง มีผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำของผู้พูด ผู้พูดมีความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการป่าวประกาศ ตาม ป.อ. มาตรา 328
ตัวบทกฎหมายอ้างอิง
ประมวลกฎหมายอาญา(ป.อ.)
มาตรา 328 ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฏไม่ว่าด้วยวิธีใดๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษร กระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท
มาตรา329 ผู้ใดแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต
(1) เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม
(2) ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่
(3) ติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ หรือ
(4) ในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมเรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาลหรือในการประชุมผู้นั้นไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท