การแต่งตังหัวหน้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของ อปท.

 

    จากการที่ได้พบปะพูดคุยกับครูผู้ดูแลเด็ก(ผดด.)หรือถ้าจะเรียกให้โก้หน่อยก็จะเป็น ผู้ช่วยครูดูแลเด็กอนุบาลและปฐมวัย ต่างก็จะมีปัญหาแตกต่างกันไปแล้วแต่สภาพแวดล้อมของแต่ละที่ บ้างก็ไม่ได้รับการเอาใจใส่ ปล่อยให้ทำการเรียนการสอนแบบตามมีตามเกิด เข้าทำนองสถานที่รับเลี้ยงเด็ก ซึ่งเด็กที่เข้ามาเรียนก็มีหลายรุ่น ๑ ขวบบ้าง ๒ ขวบบ้าง ๓-๕ ขวบบ้าง ซึ่งก็ขึ้นกับนโยบายของผู้บริหาร อปท.แต่ละแห่ง เมื่อสอบถามว่า “ทำไมเด็กอายุไม่ถึงเกณฑ์(เกณฑ์คือ ๓-๕ ปี)ถึงรับเข้ามาในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก” คำตอบที่ได้ก็คือเป็นนโยบายของผู้บริหารบ้าง เป็นลูกเป็นหลานของ อบต.บ้าง กำนัน ผู้ใหญ่บ้านบ้าง หรือไม่ก็เป็นลูกของคนรู้จักที่เอามาฝากให้เลี้ยงดูบ้าง เมื่อถามต่อไปอีกว่า “แล้วเด็กที่ไม่เข้าเกณฑ์จะได้กินอาหารกลางวัน และดื่มนมไหม” คำตอบก็คือ “ถ้ามีเหลือก็ได้กินบ้างหรือได้กินเพราะเอาส่วนของคนที่ไม่มาโรงเรียนให้เด็กที่ไม่ถึงเกณฑ์กินบ้าง” ซึ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นปัญหาที่รอการแก้ไข ถามต่อไปอีกว่า “แล้วใครจะแก้ไข” คำตอบก็คือ “ไม่รู้” “คนที่มีหน้าที่มั่ง” หรือ “ไม่แน่ใจ” ต้องยอมรับว่าเป็นปัญหาจริงๆ โดยที่ผมคิดไม่ถึงว่าจะมีกรณีแบบนี้อยู่ เมื่อถามว่า “ศูนย์เด็กเล็กคุณมีหัวหน้าศูนย์หรือยัง” คำตอบคือ “มีเป็นบางศูนย์” ทำไมถึงมีเป็นบางศูนย์ล่ะ เพราะผู้บริหารเขาไม่ทำการคัดเลือกบ้าง และเพราะผู้ดูแลเด็กยังมีคุณสมบัติไม่ครบบ้าง ซึ่งเหล่านี้ก็ล้วนเป็นปัญหาทั้งสิ้น

วันนี้จะขออนุญาต นำเรียนทำความเข้าใจเกี่ยวกับการแต่งตั้งหัวหน้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของ อปท. เพื่อให้พี่ๆน้องๆ ผู้ดูแลเด็กและผู้ที่เกี่ยวข้องได้เข้าใจอย่างชัดเจนและปฏิบัติได้ถูกต้องเป็นแนวทางเดียวกัน ดังนี้

๑  คุณสมบัติของหัวหน้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของ อปท. (มท ๐๘๙๓.๔/ว๖๑ ลว ๑๐ ม.ค.๒๕๕๑)

๑.๑   ให้คัดเลือกและแต่งตั้งจากผู้ดูแลเด็กภายในศูนย์ฯ ที่มีเด็กไม่น้อยกว่า ๒๐ คน โดยคัดเลือกจากผู้ที่มีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้

๑.  มีประสบการณ์ในการดูแลเด็กไม่น้อยกว่า ๓ ปี
๒.  จบการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไปทางการศึกษา สาขาวิชาเอกปฐมวัยหรืออนุบาล ศึกษาและมีใบประกอบวิชาชีพครู*
๓.  มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่ ก.อบต.กลางกำหนด

๒.  คณะกรรมการคัดเลือกประกอบด้วย

๑. ผู้ทรงคุณวุฒิทางการศึกษา เป็นประธาน
๒. ปลัด อปท. เป็นกรรมการ

๓.  ท้องถิ่นอำเภอ เป็นกรรมการ
๔. ผู้แทนชุมชน เป็นกรรมการ
๕.  ผู้รับผิดชอบงานด้านการศึกษา เป็นกรรมการและเลขานุการ 

เมื่อทราบถึงคุณสมบัติและคณะกรรมการคัดเลือกแล้ว ที่นี้มาดูประเด็นปัญหาที่พบก็คือเรื่องคุณสมบัติของผู้ดูแลเด็กที่จะเข้ารับการคัดเลือก คือส่วนใหญ่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีทางการศึกษา สาขาอื่นที่ไม่ใช่วิชาเอกปฐมวัยและอนุบาลศึกษาและไม่มีใบประกอบวิชาชีพครู  ซึ่งกรณีคุณวุฒิทางการศึกษานั้น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้มีหนังสือ ด่วนมาก ที่ มท ๐๘๙๓.๔/ว ๔๗๖ ลงวันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๕๑ กำหนดคุณสมบัติเพิ่มเติมให้รวมถึงผู้ดูแลเด็กที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีทางการศึกษา ทุกสาขา เป็นอันว่าเรื่องวุฒิการศึกษาไม่มีปัญหาแล้ว ขอให้จบปริญญาตรีทางการศึกษาเป็นอันมีสิทธิสมัครเข้ารับการคัดเลือกได้ครับ ประเด็นที่เป็นปัญหาถัดมาคือ เรื่องใบประกอบวิชาชีพครู  กรณีนี้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้มีหนังสือ ที่ มท ๐๘๙๓.๔/ว ๑๖๑๒ ลงวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๕๒ ผ่อนผันให้ผู้ดูแลเด็กที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีทางการศึกษาทุกสาขา แต่ยังไม่ได้รับใบประกอบวิชาชีพครู ให้มีสิทธิเข้ารับการคัดเลือกเป็นหัวหน้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กได้จนถึงปี ๒๕๕๔

ที่ร่ายยาวมาทั้งหมดก็คงจะพอเข้าใจนะครับ ว่า ผู้ดูแลเด็กที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไปทางการศึกษา ทุกสาขา ขอย้ำว่าต้องเป็นทางการศึกษาเท่านั้นนะครับ แม้จะไม่มีใบประกอบวิชาชีพครูก็สามารถสมัครเข้ารับการคัดเลือกเป็นหัวหน้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กได้    ดังนั้น ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลเกี่ยวกับงานด้านการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นท่านนักวิชาการศึกษา หัวหน้าส่วนการศึกษาฯ ท่านปลัด อปท. ท่านนายก อปท. ถ้าลูกน้องผู้ดูแลเด็กในบังคับบัญชาของท่าน มีคุณสมบัติครบถ้วน ก็จะต้องดำเนินการประกาศคัดเลือกหัวหน้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและเป็นธรรมกับผู้ใต้บังคับบัญชาของท่าน เพื่อความก้าวหน้าของลูกน้องนะครับเจ้านาย……………… 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *